คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เติบโตมาจากหมวดวิชา ในสายวิทยาศาสตร์ สังกัดโรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทรา (พ.ศ. 2498-2513) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.) ในปี พ.ศ.2513 โรงเรียนฝึกหัดครูฉะเชิงเทราได้รับการสถาปนาเป็นวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา เปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง ต่อมาในปี พ.ศ.2535 กรมการฝึกหัดครูได้จัดรวมกลุ่มวิชาในหมวดวิชาสายวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเปิดสอนในระดับอุดมศึกษาของไทยซึ่งประกอบด้วย 9 ภาควิชา ดังนี้

      1. ภาควิชาเกษตรศาสตร์
      2. ภาควิชาคณิตศาสตร์
      3. ภาควิชาคหกรรมศาสตร์
      4. ภาควิชาคอมพิวเตอร์
      5. ภาควิชาเคมี
      6. ภาควิชาชีววิทยา
      7. ภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป
      8. ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
      9. ภาควิชาหัตถศึกษาและอุตสาหกรรมศิลป์
วิทยาลัยครูได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสถาบันราชภัฏและตราเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อ พ.ศ.2538 ในปี พ.ศ.2541 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานนามแก่สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา ว่า “สถาบันราชภัฏราชนครินทร์” ซึ่งในระหว่าง พ.ศ.2535-2538 นั้น “คณะวิชา” ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น “คณะ” จึงทำให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคณะหนึ่งในจำนวน 5 คณะของสถาบันราชภัฏราชนครินทร์ ผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในระดับอนุปริญญา (วุฒิ อ.วท.) และระดับปริญญาตรี (วุฒิ วท.บ. และ ค.บ.) การจัดการเรียนการสอนมีทั้งการจัดการศึกษาให้แก่นักศึกษาภาคปกติในวันจันทร์-ศุกร์ การจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ และการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น (กศ.บป. และ กศ.พท.) ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ชุมชน นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น ในปี พ.ศ.2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 23 ก. ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จึงส่งผลให้สถาบันราชภัฏราชนครินทร์ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์” ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2547 โดยใช้อักษรย่อว่า “มรร.” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Rajabhat Rajanagarindra University” มีอักษรย่อว่า “RRU” นับแต่นั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคล ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2548 ได้มีการประกาศกฎกระทรวงจัดตั้งให้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นส่วนราชการ 1 ใน 10 ส่วนราชการของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2550 ได้มีประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ให้แบ่งส่วนงานภายในสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็น 3 กลุ่ม คือ
    1) กลุ่มงานบริหารทั่วไป
    2) กลุ่มงานบริการการศึกษา และ
    3) ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก ประกอบด้วย 13 หลักสูตรได้แก่
    ระดับปริญญาตรี
      1. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
      2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี
      3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์
      4. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการอาหารและธุรกิจบริการ
      5. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
      6. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
      7. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
      8. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
      9. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์
      10. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์
    ระดับปริญญาโท
      1. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสุขภาพ
      2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตรศึกษา
    ระดับปริญญาเอก
      1. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตรศึกษา
โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์มีสถานที่ปฏิบัติงานแยกกันเป็น 2 แห่ง คือ แห่งแรก ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 422 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารเรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ และสาขาวิชาอื่น ๆ อีกหลายสาขาวิชา ส่วนแห่งที่สอง ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 6 หมู่ 4 ตำบล หัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อาคารเรียนของสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร อาคารเรียนของสาขาวิชาการอาหารและธุรกิจบริการ และอาคารเรียนของสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สถานที่ปฏิบัติงานทั้งสองแห่งมีระยะห่างกันประมาณ 30 กิโลเมตร